Facebook
Twitter
Email

สวก.จับมือ 4 หน่วยงาน มุ่งต่อยอดงานวิจัยพัฒนายาจากพืชกระท่อมเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

สวก. ร่วมมือกับ ม.อ. กรมการแพทย์ และสำนักงาน ป.ป.ส. มุ่งต่อยอดงานวิจัยพัฒนายาจากพืชกระท่อมเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด โดยลงนามบันทึกความเข้าใจ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมแบบครบวงจรสู่การผลิตเชิงพาณิชย์

วันที่ 28 พ.ค. 2567 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. โดยดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กรมการแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมแบบครบวงจรสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ (การต่อยอดงานวิจัยพัฒนายาจากพืชกระท่อมเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนายวีระพล ใจจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทน พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. (เนื่องจากติดภารกิจสำคัญและเร่งด่วน) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส.

ความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม แบบครบวงจรสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยมุ่งเน้นการวิจัยต่อยอดพัฒนายาจากพืชกระท่อมเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดและเกิดเป็นอุตสาหกรรมทางยาภายในประเทศ อันจะส่งผลให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าจากการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการแข่งขันของประเทศ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสุขภาพของผู้ติด ยาเสพติด ปัญหาสังคมที่เกิดจากยาเสพติด เพิ่มการพึ่งพาตนเองลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เป็นศูนย์กลาง ในการใช้ยาที่พัฒนาจากพืชกระท่อมเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดจากอุตสาหกรรมทางยาแบบครบวงจร หรือผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สปาและเครื่องสำอาง ที่มีสมุนไพรที่พัฒนาจากพืชกระท่อมเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ที่มีความปลอดภัยในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการต่อยอดผลงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการกับภาคเอกชน บนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคและการประสานประโยชน์ร่วมกัน

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก. มีพันธกิจหลักในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการวิจัยการเกษตร ให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตรที่มุ่งสนับสนุนให้เกษตรกรมีรายได้จากการผลิตและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการพัฒนาเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการเกษตร ร่วมกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ความเข้าใจในทุกมิติ ตั้งแต่การผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพ จนถึงการเชื่อมโยงตลาด รวมทั้งสร้างการรับรู้ถึงกฎหมายข้อระเบียบที่เกี่ยวข้อง สวก. ได้เห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยและพัฒนาพืชกระท่อม และพร้อมร่วมกับหน่วยงานทั้ง 4 ในการสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยพืชกระท่อมอย่างสุดความสามารถ การลงนามในครั้งนี้จึงนับเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทยที่สามารถเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์พืชกระท่อมเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ซึ่งการพัฒนายาจากพืชกระท่อมไม่เพียงแค่เป็นการค้นพบใหม่ในด้านการแพทย์เท่านั้นแต่ยังเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและมีคุณค่าที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ นอกจากนี้ การพัฒนายาจากพืชยังสร้างโอกาสใหม่ในการต่อยอดในงานวิจัยและพัฒนาในอนาคต อีกทั้งสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัย เกษตรกร บุคลากรทางการแพทย์ และภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับการผลิตพืชกระท่อมสู่พืชเศรษฐกิจ ด้วยการนำองค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นหนทางนำไปสู่การสร้างรายได้ และยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย พร้อมทั้งต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างครบวงจร

กระท่อม ม.อ.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีการทำวิจัยมาอย่างยาวนาน ภายใต้วิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่า เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก โจทย์วิจัยของเราจึงหลากหลายและครอบคลุมในทุกมิติของชุมชนและสังคม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมให้ครบวงจร ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เองมีทีมวิจัยที่ได้ศึกษาวิเคราะห์ และค้นคว้าให้รู้ถึงสารสำคัญของพืชกระท่อม ทั้งฤทธิ์ที่เกิดขึ้น และการนำเอาไปใช้ประโยชน์ มาอย่างต่อเนื่อง จากปี 2545 ที่กระท่อมยังอยู่ในสถานะพืชเสพติด จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีองค์ความรู้ที่จะชี้แนะและให้ข้อมูลแก่หน่วยงานต่างๆ รวมถึงสามารถแสดงให้เห็นถึงฤทธิ์ของกระท่อม ที่จะนำไปใช้ทางการแพทย์ได้ มหาวิทยาลัยฯ หวังว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะได้สร้างสะพานความร่วมมือและมีช่องทางที่นักวิจัยสามารถใช้ความรู้ทางวิชาการมาช่วยพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ ให้เกิดเป็นงานวิจัยทางด้านพืชกระท่อมอย่างครบวงจรและจับต้องได้ บนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคและการประสานประโยชน์ร่วมกัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาและขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า รวมถึงแสดงศักยภาพของนักวิจัยไทยให้ประจักษ์ในสายตานานาประเทศต่อไป

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์เล็งเห็นและให้ความสำคัญมาโดยตลอดว่า การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดไม่ใช่เพียงการรักษาอาการฉุกเฉินแล้วหายขาด จำเป็นต้องอาศัยการดูแลอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกด้านของชีวิต ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ด้านสังคม และการดำเนินชีวิต ดังนั้นกรมการแพทย์โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)โรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง ๖ แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี ซึ่งมีภารกิจในด้านการรับส่งต่อและบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่มีความยุ่งยากซับซ้อน และยังมีบทบาทในการสนับสนุน ส่งเสริมและสร้างความร่วมมือในการศึกษาวิจัยทางคลินิกพัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดที่สมคุณค่า เพื่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน

 

นายวีระพล ใจจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันสำรวจและควบคุมพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. กล่าวว่า พลตารวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบายโดยเฉพาะการนำมาใช้แก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและมีความชัดเจนในการวิจัยต่อยอดพัฒนายาจากพืชกระท่อมเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด โดยต้องผ่านกระบวนทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ภายใต้จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และในอนาคตหากมีผลเป็น ที่น่าพึงพอใจ สำนักงาน ป.ป.ส. พร้อมผลักดันเชิงนโยบายให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวยังมีความสอดคล้องกับมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2565 ที่มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นหน่วยประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ การใช้ตามวิถีชุมชน และคุ้มครองสุขภาพของบุคคล รวมถึงประสานงานให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อมอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้น กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างเป็นระบบ และให้ความรู้และจัดทำเอกสารคำแนะนา คู่มือ หนังสือวิชาการ หรือเอกสารอื่นใดที่ส่วนราชการจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อม โดยไม่ต้องเสียค่าเอกสาร สำนักงาน ป.ป.ส. คาดหวังว่าความร่วมมือ 4 หน่วยงานในครั้งนี้จะสามารถบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อันจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศในทุกมิติ และขอขอบคุณ สวก. ม.อ. และกรมการแพทย์ มา ณ โอกาสนี้

ข่าวยอดนิยม

Facebook Page

ข่าวล่าสุด

กิจกรรมที่น่าสนใจ

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy