เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีพร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการแผนงานศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ จัดงานแถลงข่าวการขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ครั้งที่ 1 เพื่อประเมินผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบของโครงการวิจัย วิเคราะห์ และขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริง โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม วช. เข้าร่วม ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
โดยในงานมีการแสดงผลงานวิจัยที่ทำให้เห็นภาพรวมผลสำเร็จของงานวิจัยอยู่ในมิติที่กว้างขึ้น อันเป็นผลจากการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่มือผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งมีโครงการวิจัยที่สามารถขับเคลื่อนขยายผลสู่การนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ใน 3 กลุ่ม จำนวน 6 โครงการ ได้แก่
กลุ่มที่ 1 โครงการวิจัยที่มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยจัดตั้งธุรกิจเริ่มต้น และผลิตผลิตภัณฑ์จำหน่ายในท้องตลาดอย่างต่อเนื่องหรือผลิตเพื่อทดสอบตลาด จำนวน 2 โครงการ
1) โครงการ “การพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ของน้ำยาแช่แข็งน้ำเชื้อโค เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิวัฒน์ พัฒนาวงศ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมีผู้นำไปใช้ประโยชน์คือ รองศาสตราจารย์ ดร.เพทาย พงษ์เพียจันทร์ จากบริษัท สยามโนวาส จำกัด
2) โครงการ “การพัฒนาฟิล์มหดแบบใช้ความร้อนจากพลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพ” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภกิจ สุทธิเรืองวงศ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมีผู้นำไปใช้ประโยชน์คือ บริษัท สมาร์ทไบโอพลาสติก จำกัด
กลุ่มที่ 2 โครงการวิจัยที่มีผู้แสดงเจตน์จำนงค์นำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ จำนวน 3 โครงการ
3) โครงการ “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สปาพืชสมุนไพรล้านนา” โดย ศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิง มาลิน อังสุรังสี บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้แสดงเจตน์จำนงค์คือ ผู้จัดการบริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)
4) โครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากกล้วยไม้สกุลหวาย” โดย ดร.อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีผู้แสดงเจตน์จำนงค์คือ บริษัท กล้วยไม้ไทย จำกัด
5) โครงการ “นวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากชีวมวลและสารชีวภัณฑ์จากแบคทีเรียทนเค็มสายพันธุ์คัดเลือกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกพืชผักแบบเกษตรอินทรีย์” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาวิตร ตระกูลน่าเลื่อมใส มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีผู้แสดงเจตน์จำนงค์คือ บริษัท เอ็นซี โค่โค่นัท จำกัด
กลุ่มเรื่องที่ 3 โครงการวิจัยที่มีการใช้ประโยชน์ในระดับนโยบายโดยมีการประกาศใช้แล้ว จำนวน 1 โครงการ
6) โครงการ “การศึกษาแหล่งที่มาและแผนที่ของอนุภาคขนาดนาโนในบรรยากาศของประเทศไทยรวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ธรรมสินธ์ อิงวิยะ คณะแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ระชา เดชชาญชัยวงศ์ ศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะผู้วิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์
ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม วช. ได้กล่าวว่า วช.เอง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่เป็นต้นแบบการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์โดยต้องการขับเคลื่อนงานวิจัยผ่านเครือข่ายทั้ง 5 เครือข่าย ได้แก่ วช. กลุ่มนักวิจัย กลุ่มผู้ประกอบการ ประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ และสื่อมวลชน ในการขับเคลื่อนให้งานวิจัยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ วิจัยและนวัตกรรม ตามแนวคิด “ค้นให้พบ ทำให้ได้ ใช้ให้เป็น” เพื่อสร้างเศรษฐกิจรากฐานให้ยั่งยืนต่อไป
เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy