สำนักวิจัยและพัฒนา ม.อ. ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนานักวิจัยและข้อเสนอโครงการวิจัยในการส่งเพื่อขอรับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ตั้งแต่วันที่ 19 – 22 กุมภาพันธ์ 2567 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ โรงแรม ที อาร์ ร็อค ฮิลล์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
กิจกรรมดังกล่าว มีทั้งภาคบรรยายหลายหัวข้อ เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ซึ่งได้ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภศิลป์ มณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา เป็นประธานเปิดกิจกรรม และร่วมรับฟังการบรรยายเรื่อง การวิเคราะห์ Freedom To Operate for Research and Development Project โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงหทัย เพ็ญตระกูล จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ที่ปรึกษาอาวุโส บพข. สอวช. ที่พูดถึงเรื่องของความอิสระในการดำเนินการสืบค้นสิทธิบัตรเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิบัตรของผู้อื่น และการวิเคราะห์สิทธิบัตร ที่เป็นการศึกษาข้อมูลเชิงลึกของเทคโนโลยีที่นักวิจัยสนใจ โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังอธิบายให้ผู้เข้าร่วมมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตร เพื่อตรวจสอบความใหม่และขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิบัตร และลดการเพิกถอนสิทธิบัตรและช่วยในการยื่นคัดค้านสิทธิบัตร ที่จะทำให้เสียผลประโยชน์แล้ว ยังทำให้มีอิสระในการดำเนินการในสิ่งที่เกี่ยวข้องในสิทธิบัตร รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลสิทธิบัตร ที่จะทำให้นักวิจัยเข้าใจภาพรวมของเทคโนโลยีหรือข้อมูลเชิงลึกที่ครอบคลุมหลากหลายมิติ ทั้งระดับภายในประเทศ ระหว่างประเทศและทั่วโลก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่นักวิจัยควรศึกษา เรียนรู้ และเข้าใจ โดยได้รับความสนใจจากนักวิจัยทั้งในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง และมหาวิทยาลัยในเครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงภาคเอกชนเองที่มีการทำวิจัย ก็ให้ความสนใจและเข้าร่วมจำนวนมาก
โดยในวันที่ 20-22 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการอบรมเชิงลึกให้กับนักวิจัยกลุ่มที่มีข้อเสนอโครงการเตรียมยื่นขอรับทุนอยู่แล้ว โดยมีการให้คำแนะนำอย่างเข้มข้นจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาข้อเสนอเหล่านั้น ให้สามารถยื่นขอรับทุนสนับสนุนได้ โดยเริ่มจากการให้ความรู้ในเรื่องของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ที่เป็นการใช้ข้อมูลพื้นฐาน และการคาดคะเนอย่างเป็นระบบมาใช้ในการตัดสินใจว่าจะลงทุนในโครงการ หรือธุรกิจหรือไม่ ซึ่งจะต้องนำปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภาพรวมการตลาด ข้อมูลทางเทคนิค ปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ แง่มุมการบริหารจัดการ ประเด็นทางสังคม และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม มาใช้งานร่วมกับแผนธุรกิจที่มีรายละเอียดหลายด้านประกอบกัน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ที่ปรึกษาอาวุโส บพข. สอวช. และเรื่องการวิเคราะห์ตลาดและความเป็นไปได้ในแง่การตลาดว่าสินค้าหรือบริการที่ทำ มีความต้องการในตลาดและเป็นความต้องการที่มีปริมาณมากเพียงพอที่จะสร้างธุรกิจได้หรือไม่ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศกร พิชยดนย์ ผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดเป็นผู้บรรยายและให้คำแนะนำแก่ผู้เข้าร่วม รวมถึงช่วยพิจารณาข้อเสนอเพื่อปรับแก้ให้ตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น
หลังจากนั้นเป็นการให้ความรู้เรื่องความเป็นไปได้ในทางการเงิน ซึ่งในการนำเอางานวิจัยไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ นักวิจัยเองจำเป็นที่จะต้องเข้าใจความเป็นไปได้ของตัวเลขในแง่มุมต่างๆ เช่น ความเป็นไปได้ของจำนวนเงินลงทุนที่สามารถจัดหามาได้ หรือความเป็นไปได้ในการบริหารกระแสเงินสดของธุรกิจ หรือแม้แต่ความเป็นไปได้ในแง่ของความคุ้มทุนในการลงทุนต่างๆของโครงการวิจัยและพัฒนา ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณสายัณห์ ไวรางกูร ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน มาเป็นวิทยากรบรรยายและให้คำแนะนำ
สำหรับการปิดกิจกรรม ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สุรศักดิ์ สังขทัต ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ผู้เป็นตัวแทนกล่าวปิด ได้กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เองมีบทบาทในฐานะมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติและได้รับการยอมรับในระดับชาติ รวมถึงนานาชาติในระดับหนึ่งแล้ว กิจกรรมการอบรมครั้งนี้จึงถือเป็นการยกระดับการทำวิจัยของนักวิจัยให้สามารถต่อยอด และมีความยั่งยืนในแง่ของการต่อยอดและนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งก็เป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายความสามารถทั้งของนักวิจัย แหล่งทุน และมหาวิทยาลัยด้วย และมหาวิทยาลัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต จะเกิดโครงการวิจัยที่สามารถต่อยอดไปในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy