Facebook
Twitter
Email

ม.อ. อบรมเตรียมความพร้อมองค์กรเพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน 

วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องดงยาง 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สํานักงานประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่สถาบันการศึกษาในเครือข่าย C – อพ.สธ. ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเป็นเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา เชิงประเด็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สัณห์ชัย กลิ่นพิกุล ประธานคณะทำงานฯ เป็นประธานเปิดการอบรม และเล่าให้ฟังถึงความสำคัญของการอบรมครั้งนี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะประธานเครือข่ายฯ และมีการขับเคลื่อนการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนมาตลอด โดยมีโครงการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่สีเขียวยั่งยืนในมหาวิทยาลัยสงลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นโครงการต้นแบบ ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการอำนวยการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งรวมเอานักวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ จากหลากหลายคณะ ในทุกวิทยาเขต เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น ในการช่วยลดและชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนจนเป็นกลาง ซึ่งมหาวิทยาลัยฯมีเป้าหมายที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในทุกวิทยาเขตให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2581

โดยกิจกรรมครั้งนี้ ประกอบไปด้วยการให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วม จากนักวิจัยในโครงการ เพื่อให้เข้าใจถึง ความสำคัญของการเป็นสถาบันสีเขียว เรื่องของ Climate Change ที่เกิดขึ้นในโลก บทบาทขององค์กรและประเทศที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น รวมถึงเรื่องของการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ขององค์กร ความเข้าใจในเรื่องข้อกำหนด แนวทางการรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จแล้ว เช่น โครงการพลังงานสะอาด และโครงการปลูกต้นไม้ เป็นต้น

Carbon neutrality ความเป็นกลางทางคาร์บอน

นอกจากการบรรยายแล้ว ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ยังมีการนำคณะผู้ร่วมกิจกรรม ไปศึกษาดูงานระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ณ สหกรณ์ออมทรัพย์ ม.อ. ซึ่งเป็นต้นแบบที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดทำขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจมากขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้กับองค์กรของตนเองได้ ซึ่งหลังจากเยี่ยมชมสถานที่จริงแล้ว ผู้เข้าร่วมอบรมยังมีได้การวิเคราะห์ข้อมูล และวางแผนการประเมินขององค์กรตัวเอง โดยมีวิทยากรในโครงการช่วยให้ความรู้ ร่วมอภิปรายและแนะนำแนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ของแต่ละสถาบันอีกด้วย ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญ ที่หน่วยงานต่าง ๆ ในเครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง จะสามารถเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และช่วยลดการปล่อยเรือนกระจกได้อย่างมีศักยภาพต่อไป

ข่าวล่าสุด

กิจกรรมที่น่าสนใจ

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy