เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมผล พืชน์ไพบูลย์ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคลและกิจการพิเศษ และศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบพลังงาน และนักวิจัยในคณะทำงานของมหาวิทยาลัย เข้าร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ในสัญญาให้บริการติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ในระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก ณ ห้องสัมมนา 3 อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่คลองเตย
สำหรับโครงการดังกล่าว เกิดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้า Net Zero Emissions ภายในปี ค.ศ. 2065 เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยดำเนินการตามแผนพัฒนาพลังงานของประเทศด้วย โดยความร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของทั้ง 2 หน่วยงาน ที่มุ่งเน้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Economy Model ในด้าน Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว ที่คำนึงถึงการดำเนินกิจกรรมขององค์กรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ลดภาวะโลกร้อน และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์ต่อทั้งมหาวิทยาลัย สังคม ประชาชน และโลก
อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โครงการที่จะเกิดขึ้นจากสัญญาในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของมหาวิทยาลัย ที่จะได้มีส่วนร่วมในการใช้พลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง มีแนวคิดการดำเนินการ “โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และสมาร์ทกริด” เพื่อใช้ในการจัดการด้านพลังงานของมหาวิทยาลัยทั้ง 5 วิทยาเขต ร่วมกัน เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว และการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักสากล SDGs (Sustainable Development Goals) แบบองค์รวม ที่จะส่งผลให้ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศในการผลิตไฟฟ้า ตามแนวนโยบายแห่งรัฐ เรื่องการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และยังสอดคล้องกับนโยบายเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตั้งใจให้เกิดขึ้น
โดยหลังจากนี้การไฟฟ้านครหลวงจะประสานงานผ่าน สถาบันวิจัยระบบพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อดำเนินการติดตั้ง Solar Rooftop ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทั้ง 5 วิทยาเขต โดยดูพื้นที่ที่มีความเหมาะสม พร้อมจัดทำข้อเสนอทางเทคนิค และโมเดลการลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและสมาร์ทกริดที่มีความน่าเชื่อถือ ถูกต้อง เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในมหาวิทยาลัย และให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีระบบผลิตและจัดการพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แก่นักศึกษาบุคลากรของมหาวิทยาลัยและสังคมต่อไปในภายภาคหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการนี้มาแล้ว 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy