Facebook
Twitter
Email

นักวิจัยรุ่นใหม่ ม.อ. ตะลุยเวทีโลก! ร่วมงานประชุม STS Forum 2024 ญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธิณี อยู่เจริญ นักวิจัยจากคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม และ ดร.ภวิตา บุญรัตน์ นักวิจัยจากคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม วิทยาเขตภูเก็ต ได้เข้าร่วมการประชุมระดับโลก ในงาน “STS forum 2024 – the 21st Annual Meeting” และร่วมกิจกรรมพิเศษ “Dialogue between Young Leaders and Nobel Laureates” ในฐานะผู้นำรุ่นเยาว์ (Young Leaders) ประจำปี 2567 ที่ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้คัดเลือกนักวิจัยรุ่นใหม่จำนวน 5 คน จากผู้สมัครทั่วประเทศ เพื่อเป็นตัวแทนนักวิจัยเข้าร่วมงาน ณ นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

นางสาวศุภมาส ได้กล่าวถึงกิจกรรมนี้ว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกและชีวิตประจำวัน โดยประเทศไทยมีแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต รวมถึงการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์แนวทางแก้ปัญหาระดับโลกต่อไป

ทางด้าน ดร.วิภารัตน์ ก็ได้กล่าวถึงงานครั้งนี้ว่ายุคปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรมได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่ไม่เคยมีมาก่อน ผ่านความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีชีวภาพ ปัญญาประดิษฐ์ และการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อื่น ๆ นักวิจัยรุ่นใหม่จึงมีบทบาทสำคัญ ซึ่งไม่เพียงแค่ในการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ แต่ยังรวมถึงการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นร่วมกันและจิตวิญญาณในการทำงานเพื่ออนาคตที่ดีกว่าโลกของเรา

พร้อมนี้ วช. ได้จัดการเสวนาในประเด็นเรื่อง “Driving Innovation and Shaping a More Resilient, Secure, and Sustainable Future by STS forum Young Leader” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. อนรรฆ ขันธะชวนะ และนางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย วช. เป็นผู้ดำเนินรายการ และ รองศาสตราจารย์ ดร. ดุสิต อธินุวัฒน์ เป็นพิธีกร โดยมี Young Leaders จากประเทศไทยทั้ง 5 ท่าน ร่วมเสวนา โดยมีข้อสรุปในประเด็นหลัก คือ ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคแห่งนวัตกรรมและการวิจัยที่น่าตื่นเต้น เรามีโครงการวิจัยหลากหลายที่มุ่งแก้ปัญหาท้าทายของประเทศและโลก ตั้งแต่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปจนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ในด้านสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาเครือข่าย IoT เพื่อติดตามสภาพแวดล้อมในป่าชายเลนและการศึกษาระบบนิเวศชายฝั่ง ในด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มีการพัฒนาเครื่องมือประเมินการปฏิบัติตามกฎหมายความเป็นส่วนตัวสำหรับ SMEs ด้านการคมนาคม มีการศึกษาแนวคิด Urban Air Mobility และในด้านการแพทย์ มีการพัฒนานวัตกรรมด้านชีววัสดุและวิศวกรรมเนื้อเยื่อ ซึ่งโครงการเหล่านี้จะแสดงถึงความมุ่งมั่นของไทยในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างผลกระทบในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ซึ่งการที่นักวิจัยรุ่นใหม่ของประเทศได้มีโอกาสในการแสดงศักยภาพให้นานาประเทศดั้ประจักษ์ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญเพื่อสร้างมาตรฐานและการยอมรับในสมรรถนะของนักวิจัยไทยและยังเป็นการสร้างเครือข่าย Global Partnership ให้เกิดขึ้นในทุกมิติด้านวิชาการอีกด้วย

แสดงความยินดี

ข่าวล่าสุด

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy