วันนี้ (4 ตุลาคม 2566) รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภศิลป์ มณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กล่าวรายงานในพิธีเปิดการเสวนา “หาดใหญ่เข้มแข็ง..สู้ภัยน้ำท่วม ครั้งที่ 14 ปี 2566” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและการเงิน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนันท์ ชุบอุปการ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ และตัวแทนหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงชุมชนต่างๆในจังหวัดสงขลา เข้าร่วม ณ ห้องตะวันจันทรา โรงแรมเอส หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
โดยงานได้จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงครั้งที่ 14 ในปีนี้ ที่จัดขึ้นในหัวข้อ “ฝ่าวิกฤตน้ำ ร่วมใจแก้ปัญหา พัฒนาไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสงขลามากมายในทุกภาคส่วน โดยกิจกรรมในงาน มีทั้งภาคการบรรยายที่ได้รับความรู้จากนักวิจัย นักวิชาการ ในการมาบอกเล่าถึงเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลต่อฝน ฟ้า ในพื้นที่จังหวัดสงขลา และภาคการเสวนา จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ต่างมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างก็นำเอาประสบการณ์ตรงมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และช่วยให้หน่วยงาน ชุมชนต่างๆได้นำแนวทางไปปฏิบัติในพื้นที่ของตน และเพื่อต่อยอดการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการในการแก้ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาภัยแล้งในพื้นที่รอบๆ เขตเทศบาลนครหาดใหญ่อย่างยั่งยืน
จากนั้นช่วงบ่าย เป็นการระดมความคิดจากตัวแทนหน่วยงาน และชุมชนต่างๆในจังหวัดสงขลา เพื่อบอกเล่าปัญหาในแต่ละท้องที่ และช่วยกันหาแนวทางแก้ไข เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้รับฟังและนำเอาแนวทางที่ผ่านกระบวนการคิดร่วมกันเหล่านั้น มาปรับใช้เพื่อลดความเสียหายที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนหากเกิดอุทกภัยต่อไปในอนาคต
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภศิลป์ มณีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนา ได้จัดกิจกรรมเสวนา “หาดใหญ่เข้มแข็ง..สู้ภัยน้ำท่วม” เป็นประจำทุกปี โดยเริ่มจากแนวคิด Hat Yai Model จนทำให้เกิดการจต่อยอดและสร้างสรรค์แนวทางแก้ไขปัญหาด้านอุทกภัย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น โดยบูรณาการจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อให้ครอบคลุมทุกองคาพยพ โดยที่ผ่านมามีทั้งการจัดระบบบ้านพี่เลี้ยงในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ แผนการเตรียมความพร้อม การนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหา และจัดการน้ำท่วม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีของชุมชนตัวอย่าง และระบบเตือนภัยน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ เป็นต้น
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ เปิดเผยถึงการจัดเสวนาในครั้งนี้ ว่าทำให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักในการเตรียมพร้อม เพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้ และเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเกิดน้ำท่วมแบบฉับพลันในหลายพื้นที่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนมีฝนตกหนักมาก และไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ทำให้ประชาชนไม่สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ทางผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนันท์ ชุบอุปการ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ ยังคาดหวังให้การจัดงานนี้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน ทั้งน้ำท่วม และภัยแล้ง ไม่เพียงแต่เฉพาะในพื้นที่ จังหวัดสงขลา เท่านั้น แต่หมายถึงพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหากทุกภาคีเครือข่ายยังเหนียวแน่น มุ่งมั่น และเตรียมความพร้อมในการทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง รวมทั้งมีเวทีแบบวันนี้ให้ผู้เกี่ยวข้องได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้มีโอกาสสอบถามความก้าวหน้าในแต่ละแผนปฏิบัติการของแต่ละหน่วยงาน ว่าได้ดำเนินการไปถึงไหน อย่างไร มีนวัตกรรม และเทคโนโลยีอะไรที่ภาคประชาคมเข้าถึงได้บ้าง จึงจะเป็นเวทีในการติดตามการทำงานแบบมีส่วนร่วมของชาวหาดใหญ่ และสงขลาอย่างแท้จริง
เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy